ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่ 16 และศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เคยเป็นคณบดีคณะดังกล่าว ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2550
สมคิดเกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2502 บิดาประกอบอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ส่วนมารดาค้าขายเสื้อผ้าในตลาด ทั้งบิดามารดาของสมคิดมีเชื้อสายเป็นคนจีน และมีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ย่านบุคคโล ฝั่งธนบุรี บิดามารดาเดิมสกุล แซ่เล แต่สมคิดได้ตั้งนามสกุล "เลิศไพฑูรย์" ขึ้นมา โดยมีคำรณ บุญเชิด (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) น้าชาย เป็นผู้ตั้งให้
ใน พ.ศ. 2540 ได้สมรสกับ ฉัตรแก้ว นิธิอุทัย หญิงชาวมุสลิม เขาจึงเข้ารีตเป็นมุสลิมตามภรรยา ทั้งคู่มีบุตรชายฝาแฝด คือ ฐากร เลิศไพฑูรย์ และฐากูร เลิศไพฑูรย์ ซึ่งปัจจุบันศึกษา ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ด้วยกันทั้งสอง
สมคิดสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนสมจิตร ระดับประถมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวัดราชโอรส และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ต่อมา สมคิดเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับ สุรพล นิติไกรพจน์, อภิชาติ ดำดี, วสันต์ ภัยหลีกลี้, วิฑูรย์ นามบุตร, นพดล ปัทมะ, อัญชลี วานิช เทพบุตร และบุญสม อัครธรรมกุล สมัยนั้น เขาเคยทำกิจกรรมในพรรคแสงธรรม องค์การนักศึกษา และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เขาเป็นนิติศาสตรบัณฑิตแห่งคณะดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ครั้นแล้ว ได้เป็นเนติบัณฑิตไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จากนั้น เขาได้ทุนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส 2 ประเทศฝรั่งเศส สำเร็จปริญญาโทและปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน ในปี พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2533 ตามลำดับ นอกจากนี้ เขายังได้ประกาศนียบัตร หลักสูตรการปกครองท้องถิ่น จากประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2537 ด้วย
สมคิดเริ่มทำงานในคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน แต่ทำได้เดือนเดียวก็ลาออก จากนั้น เขาผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ 1 ในปี พ.ศ. 2525 เขาจึงได้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ครั้งนั้น เขาเปิดสอนวิชากฎหมายปกครองท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรก ต่อมา เขาจึงได้เป็นเป็นผู้ช่วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนึ่ง สมคิดยังเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ และมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ฯลฯ , เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
นอกจากประสบการณ์ในด้านมหาวิทยาลัยแล้ว สมคิด เลิศไพฑูรย์ ยังมีประสบการณ์อื่นอีก อาทิ เป็นกรรมการสถาบันพระปกเกล้า, กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ใน พ.ศ. 2550 ตลอดจนเป็นกรรมการสนับสนุนระบบจังหวัดแบบบูรณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี, อนุกรรมการข้าราชการพลเรือนวิสามัญ เกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เชี่ยวชาญประจำศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลปกครอง
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 สมคิดได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า เป็นไฉนเขาจึงร่วมหัวจมท้ายกับเผด็จการทหาร สมคิดว่า เขาเรียนและสอนเรื่องรัฐธรรมนูญเรื่อยมา ถึงเวลาต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรเข้าไปร่วม เพื่อให้เนื้อหาออกมาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ต่อมา เมื่อสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ้นสุดวาระอยู่ในตำแหน่งลงใน พ.ศ. 2553 มีการหยั่งเสียงเพื่อสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ซึ่งใกล้ชิดกับสุรพล ได้คะแนน 1,722 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 30 จากบรรดาผู้สมัครทั้งหมด ในการเลือกตั้งอธิการบดีฯ ณ วันที่ 18 ตุลาคม ของปีเดียวกัน สมคิดจึงชนะไปด้วยคะแนนเสียง 25 คะแนน
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 สมคิดให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่เคยสนับสนุนหรือส่งเสริมรัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า ดีกว่ามาคิดว่ารัฐประหารนี้ควรหรือไม่ "โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า" และกล่าวว่า ไม่มีทางที่รัฐประหารจะอยู่ค้ำฟ้า อีกไม่นานก็จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตย เขายังเชื่อว่า หากรัฐบาลยอมลาออกจากตำแหน่งจะไม่เกิดรัฐประหาร